ปัญหาการเสพติด social media เป็นปัญหาใหญ่ที่สังคม
กำลังเป็นห่วงเป็นอย่างมาก พฤติกรรมการเสพติด social
media นี้ถือว่าเป็นอาการที่ดูเหมือนจะไม่ต่างอะไรมากนัก
กับการติดสารเสพติดให้โทษ ผู้ที่เสพติดการใช้ social
media จะพบว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเอง
ให้หยุดเล่น social media ได้ง่ายๆ และจะรู้สึกอึดอัด
กระวนกระวายเป็นอย่างมากเวลาที่ไม่สามารถเล่น social
media ได้ตามที่ใจต้องการ จนท้ายที่สุดสภาวะเสพติดนี้ก็จะ
ส่งผลสียต่อชีวิตประจำวันของตัวเองในหลายๆด้าน

พฤติกรรมการเสพติด social media นี้เราสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปตามสถานที่ต่างๆ หลายคนโดยเฉพาะ
วัยวุ่นนั้นไม่สามารถที่จะอยู่เฉยๆได้นานๆโดยไม่หยิบเอาโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเปิดเล่น social media  
ภาพที่คนจดจ่อกับการเล่น social media บนมือถือในอิริยาบทยืนเดินนั่งนอนโดยไม่ใส่ใจต่อสิ่งรอบข้าง
อาจจะถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในสังคมยุคดิจิตอลไปเสียแล้ว

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นผลพวงจากการเสพติด social media
ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความเป็นห่วงก็คือการทำให้คนสมัยนี้โดยเฉพาะ
วัยรุ่นมีสมาธิสั้นและไม่สามารถมีสติจดจ่อกับการงานหรือกิจกรรมต่างๆ
ที่ทำได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัญหาที่ว่านี้มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้
social media เนื่องจากพฤติกรรมการเสพติด social media
ทำให้ผู้ที่ติดมัวแต่คอยไปคิดถึงสิ่งที่จะทำบน social media มาก
เกินไปจนไม่สามารถตั้งสติที่จะทำอะไรอย่างอื่นได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเราจะ
เห็นได้ว่าคนสมัยนี้เวลาทำอะไรก็มักจะอดไม่ได้ที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น
เป็นระยะๆทำให้ไม่สามารถจดจ่อกับการงานที่กำลังทำอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง

 

จากผลการวิเคราะห์สถิติจากข้อมูลผลสำรวจมาพบว่ากลุ่มตัวอย่างพนักงานบริษัทที่มีพฤติกรรมการ
เสพติด social media นั้นเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาในการมีสติจดจ่อในเรื่องต่างๆที่ทำในชีวิตประจำวัน
ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นผลวิเคราะห์ยังพบอีกว่าทั้งปัญหาการติด social media และปัญหาการ
ขาดสติจดจ่อที่เป็นผลพวงมากจากการติด social media นั้นยังส่งผลเสียต่อแนวทางที่คนเราเลือก
เพื่อจัดการกับปัญหาที่ประสบพบเจอในชีวิตประจำวันอีกด้วย

เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างการเลือกที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาเพื่อหาทางแก้ไขมันอย่างมีประสิทธิภาพ
(problem-focused coping) กับการพยายามหาสิ่งบันเทิงเริงใจมาทำหรือหลอกตัวเองเพื่อให้ลืม
หรือหนีจากปัญหา (avoidance coping) ผลวิจัยพบว่ากลุ่มที่มีพฤติกรรมการเสพติด social
media เลือกที่จะหนีปัญหาแทนที่จะพยายามหาทางเผชิญหน้ากับปัญหา อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าทั้งสอง
ทางเลือกนี้จะมีจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อจัดการกับความเครียดจากปัญหา แต่กระนั้นก็ตามการหนี
ปัญหาดูเหมือนจะไม่ใช่ทางเลือกที่จะส่งผลดีให้กับคนเราในระยะยาว เพราะถึงแม้ว่าเราจะสามารถ
หาสิ่งบรรเทิงเริงใจมากลบเกลื่อนหรือหลอกตัวเองเพื่อให้ลืมปัญหาได้ แต่ในอนาคตถ้าเราจะต้องประสบ
พบเจอกับปัญหาเดิมๆนั้นอีกเราก็จะต้องคอยหนีหรือหลอกตัวเองไปเรื่อยๆไม่จบสิ้น ซึ่งผิดกับทางเลือก
ที่จะเผชิญหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งจะส่งผลดีให้เราในระยะยาว เนื่องจากเป็นการฝึกให้เราเรียนรู้ที่จะ
จัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเราประสบกับปัญหานั้นอีกในอนาคต คนที่ผ่านการเผชิญ
หน้ากับปัญหานั้นมาแล้วจะสามารถคลี่คลายปัญหานั้นได้ง่าย

 

 

โดยสรุปแล้ว ผลวิจัยที่ได้นี้สามารถสะท้อนถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาสำหรับคนที่มีความเสี่ยง
ที่จะตกอยู่ในสภาวะการเสพติด social media นอกเหนือจากผลพวงที่อาจทำให้คนกลุ่มนี้ไม่
สามารถตั้งสติจดจ่อในการงานที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังอาจกระทบถึงศักยภาพในการ
แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันอีกด้วย สาเหตุหลักๆก็เนื่องมาจากว่าในปัจจุบันมีหลายๆคนมักใช้
social media เป็นประหนึ่งที่สำหรับระบายปัญหาส่วนตัวที่มี เมื่อมีปัญหาคนกลุ่มนี้มักจะอด
ไม่ได้ที่จะโพทนาปัญหาของตนใน social media เพื่อเป็นการระบายอารมณ์ ในอีกทางหนึ่ง
เมื่อประสบกับปัญหาก็มีความเป็นไปได้สูงที่คนกลุ่มนี้จะเสียเวลาเป็นอย่างมากไปกับการเล่น
social media เพื่อให้ลืมปัญหาที่มีแทนที่จะพยายามหาทางที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ดังนั้นทั้ง
ปัญหาการเสพติด social media และผลพวงที่ทำให้ไม่สามารถตั้งสติพิจารณาถึงหนทางการ
แก้ปัญหาจึงอาจจะเป็นสิ่งน่ากลัวที่ทำให้คนสมัยใหม่ในยุค digital ขาดศักยภาพในการต่อสู้กับ
เรื่องต่างๆที่ชีวิตคนเราต้องเผชิญ

 

ในท้ายที่สุดนี้ ทางผู้เขียนขอจบด้วยประโยคหนึ่งที่ได้เคยอ่านเจอบนโลก online ประโยคนั้นมี
ใจความสั้นๆว่า “If you have a problem, face it, don’t Facebook it” แปลเป็นไทยคือ
“ถ้าคุณประสบกับปัญหา จงเผชิญหน้ากับมัน อย่าเอามันไประบายบน Facebook” ในความเห็น
ส่วนตัวของผู้เขียน แล้วถึงแม้ว่าจะเป็นประโยคที่ฟังดูขำๆ แต่ก็แฝงนัยยะลึกซึ้ง เพราะมันสะท้อน
ถึงความเป็นจริงที่มีให้เห็นในปัจจุบัน อีกทั้งยังสอดคล้องกับผลวิจัยของผู้เขียนที่ได้นำมาตีแผ่อีกด้วย
คนสมัยนี้เวลามีปัญหาอะไรนิดๆหน่อยๆก็จะเอามาระบายบน social media เปรียบเสมือนว่าเป็น
โลกส่วนตัวที่มีไว้เพื่อปลดปล่อยความอัดอั้นได้ตามอำเภอใจ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วโลกของ social
media มันไม่ได้เป็นโลกส่วนตัวอย่างที่คิด  ทุกๆอย่างที่ถูกเผยแพร่ออกไปผ่านทาง social media
ส่วนตัวสามารถกระจายเป็นไฟลามทุ่ง ยากที่จะดึงสิ่งที่ถูกส่งไปแล้วให้กลับคืนมาได้ดังเดิม ดังนั้นการใช้
social media เพื่อจัดการกับความเครียดในทางที่ไม่ควรก็สามารถนำมาซึ่งปัญหาที่อาจจะรุนแรงกว่า
ดังนั้นการมีสติและพยายามแก้ไขพฤติกรรมการเสพติด social media จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนควร
ให้ความสำคัญโดยไม่ปล่อยให้ตัวเองต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพฤติกรรมการใช้ social media
ที่จะส่งเสียแก่ตัวเองในอนาคต

 

 

งานวิจัยอ้างอิง

Sriwilai, K., & Charoensukmongkol, P. (2015), Face it, don’t Facebook it: Impacts of Social Media Addiction on Mindfulness, Coping Strategies and the Consequence on Emotional Exhaustion, Stress and Health, doi: 10.1002/smi.2637

 

 

 

 

 

Copyright © 2014
All rights reserved.