ประโยชน์จากการฝึกสมาธิ
หน้าแรก หน้า 2 หน้า 3 หน้า 4 หน้า 5 หน้า 6 หน้าสุดท้าย

หลายๆคนที่ศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาพอสมควรมักจะต้องเคยได้ยินได้ฟัง
ในสิ่งที่พระศาสดาเคยสอนเกี่ยวกับการทำสมาธิว่า “การฝึกสมาธินั้นทำให้จิตใจ
เราสงบ เมื่อจิตใจเราสงบ เราก็จะเกิดปัญญาและสามารถแก้ไขปัญหาในชีวิต”
ประโยคนี้หลายๆคนที่ไม่เคยได้ฝึกสมาธิอาจจะยังเคลือบแคลงสงสัยว่ามันจะเป็นจริง
ได้อย่างไร ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้จึงได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อมุ่งเน้นที่จะหาข้อพิสูจน์ในทางสถิติ
เกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกสมาธิในแนวการเจริญสติปัฏฐานตามที่ได้กล่าวมา

งานวิจัยนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ในส่วนแรกจะเป็นการศึกษาถึงประโยชน์ของการฝึกสมาธิที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานในทางจิตวิทยาซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ การเสริมสร้างศักยภาพการรับรู้ความสามารถของตนเอง ตลอดจนการจัดการกับความเครียด ในส่วนที่สองจะเป็นการวิเคราะห์ถึงประโยชน์จากการฝึกสมาธิที่ส่งผลต่อการแก้ปัญหาในองค์กร ความเหนื่อยหน่ายกับงาน และความพอใจของบุคคลากรที่มีต่องานในองค์กร

แต่ก่อนที่จะพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัย เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานการฝึกสมาธิเสียก่อน การฝึกสมาธิหรือที่บางคนอาจจะเรียกว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นสิ่งที่พวกเราหลายๆคนคงรู้จักหรือเคยได้ยินมามากต่อมาก แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายคทีเดียวที่ยังไม่เข้าใจถึงแก่นหรือหลักของการฝึกสมาธิที่แท้จริง หลายๆคนเมื่อพูดถึงการทำสมาธิแล้วมักจะหวนระลึกถึงความทรงจำครั้นวัยเด็กสมัยที่เรียนวิชาพระพุทธศาสนาที่โรงเรียนว่าการทำสมาธินั้นเราต้องนั่งขัดสมาธิเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หายใจเข้าพุทธ หายใจออกโธ แท้จริงแล้วการทำสมาธินั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่นั้น ถ้าจะศึกษากันจริงๆตามหลักในพระพุทธศาสนาแล้ว รูปแบบการทำสมาธินั้นมีถึง 40 รูปแบบเลยทีเดียว ซึ่งการทำสมาธิที่หลายๆคนเข้าใจตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้จัดว่าเป็นหนึ่งในหลายวิธีนั้น แต่อย่างไรก็ดีไม่ว่าเราจะทำสมาธิในรูปแบบใด ทุกรูปแบบของการทำสมาธิล้วนแต่ต้องอาศัยหลักการพื้นฐานแบบเดียวกัน ซึ่งหลักการพื้นฐานนี้ถือว่าเป็นแก่นของการทำสมาธิที่แท้จริงเลยทีเดียว หลักนั้นก็คือ “การมีสติรู้ตัวอยู่ในสภาาวะปัจจุบันที่เรากำลังประสบอยู่” ซึ่งการฝึกสมาธิในแนวนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าการฝึกแนว “การเจริญสติปัฏฐาน” นั่นเอง

แต่ก่อนที่เราจะมาลงรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานนั้น
เราต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “สติ” เสียก่อน การมีสตินั้นถ้าจะอธิบาย
แบบพื้นๆก็คือการที่เรารู้เนื้อรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ณ ขณะปัจจุบัน ซึ่งในทาง
ตรงกันข้าม การขาดสติก็คือการที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ บางทีกว่า
จะมารู้ตัวว่าทำอะไรไปก็หลังจากที่ได้ทำสิ่งนั้นไปแล้ว นี่คือความหมายของการม
ีสติแบบง่ายๆ การเจริญสติในแง่ของการปฏิบัติสมาธินั้นก็มีความหมายไม่ต่างจาก
การมีสติแบบพื้นๆดังที่ได้กล่าวมานี้ ซึ่งหลักสำคัญของการเจริญสติแนวนี้ก็คือ
“การที่เรามีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เรากำลังทำหรือกำลังรู้สึกอยู่
ณ ขณะปัจจุบัน”
นั่นเอง

การเจริญสติในแนวนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องกระทำในอิริยาบทนั่งขัดสมาธิเท้าขวาทับเท้าซ้ายมือขวาทับมือซ้ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ แท้จริงแล้วการเจริญสติสามารถฝึกได้ในชีวิตประจำวัน โดยเราสามารถทำได้แทบทุกที่ ทุกเวลา และในทุกอิริยาบท ไม่ว่าจะเป็นยืน เดิน นั่ง นอน หลักสำคัญง่ายๆของการเจริญสติก็คือให้เราคอยตามดูตามรู้อิริยาบทที่เรากำลังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่นในเวลาที่เราเดินก็ให้เอาจิตไปจดจ่ออยู่กับกริยาที่เรากำลังก้าวเดิน ตั้งแต่ยกเท้าขึ้น ก้าวเท้าไปข้างหน้าจนถึงวางเท้าลงสัมผัสพื้น สลับไปมาซ้ายขวา การฝึกสมาธิในรูปแบบการนั่งนั้นก็สามารถที่จะทำในท่านั่งท่าใดก็ได้แม้กระทั่งการนั่งบนเก้าอี้ เมื่อจัดท่านั่งให้สบายแล้วก็ให้คอยสังเกตดูลมหายใจเข้าออกของเราซึ่งสามารถดูได้จากหลายส่วนของร่างกาย บางคนอาจจะคอยดูการกระทบของลมที่ผ่านเข้าออกทางปลายรูจมูก บางคนอาจจะดูการยุบการพองของหน้าท้องตามจังหวะการหายใจเข้าออก การฝึกสมาธิแนวสติปัฏฐานนั้นไม่ว่าจะฝึกในอิริยาบทใดๆก็ตาม หลักการสำคัญก็คือเราจะต้องคอยพยายามประคองจิตของเราให้จดจ่ออยู่กับอิริยาบทนั้นๆอยู่ตลอดเวลา การที่เราฝึกให้จิตของเราสามารถจดจ่อกับอิริยาบทใดอิริยาบทหนึ่งโดยไม่ฟุ้งซ่านกับสิ่งอื่นนั้นเป็นการฝึกสติของเราให้มีการตื่นตัวและรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ สติที่สามารถถูกประคับประคองให้จดจ่อได้อย่างต่อเนื่องนี่เองคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สมาธิ” ดังนั้นจะกล่าวได้ว่าการฝึกสมาธินั้นจำเป็นต้องอาศัยพลังของสติเป็นพื้นฐานอย่างมาก หากจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการที่เราจะมีสมาธิได้นั้นจะต้องอาศัยการมีสติเป็นที่ตั้งนั่นเอง

ในการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานนั้น ผู้ฝึกจะต้องคอยตามดูตามรู้และพยายามจดจ่ออยู่กับสภาวะต่างๆที่เราสัมผัสและรับรู้ได้ในขณะปัจจุบัน สภาวะที่ว่านี้สามารถแบ่งออกได้เป็น “สภาวะทางกาย” หรือรูปธรรม และ “สภาวะทางใจ”หรือนามธรรม สภาวะทางกายได้แก่สัมผัสต่างๆที่ร่างกายของเราสามารถรับรู้และรู้สึกได้ เช่น ความรู้สึกร้อน หนาว สบายตัว ไม่สบายตัว เจ็บปวดตามร่างกาย เป็นต้น ส่วนสภาวะทางใจนั้นได้แก่อารมณ์ต่างๆที่ใจของเรารู้สึก เช่น รู้สึกสุข ทุกข์กังวล เบื่อ เศร้า เหงา เป็นต้น อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างของการฝึกการรับรู้สภาวะต่างๆก็คือเราจะต้องรับรู้สภาวะต่างๆนั้นด้วยใจที่เป็นกลางไม่ว่าสภาวะนั้นจะเป็นที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม เช่นเวลาที่เรารู้สึกปวดเมื่อยร่างกายในขณะนั่งปฏิบัติ เราก็แค่ให้รู้ไว้เฉยๆว่าตอนนี้ร่างกายของเรากำลังรู้สึกปวด แค่รู้ไว้เฉยๆเท่านั้น เราไม่ต้องไปคิดต่อว่าทำไมมันถึงปวดอย่างนี้ เมื่อไหร่มันจะหายปวดสักที การคิดไปอย่างนั้นเรียกว่าการพยายามเข้าไป“ปรุงแต่งในสิ่งที่เรากำลังเป็น นี่เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติใหม่ๆมักจะต้องเผชิญและเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนท้อถอยเลิกปฏิบัติไปก็มากต่อมาก แต่สำหรับคนที่พยายามอดทนวางใจเป็นกลางในทุกขเวทนาที่กำลังรับรู้โดยไม่ไปคิดปรุงแต่งต่อ เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะพบว่าเมื่อเราปล่อยใจไม่ให้ไป “ยึดติด” กับทุกข์ที่มีเหล่านั้นแล้ว ในที่สุดแล้วความรู้สึกเจ็บปวดที่เคยเป็นก็จะหายไปเองอย่างน่าอัศจรรย์

ปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายได้จากหลักพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับ“ไตรลักษณ์”
ซึ่งกล่าวไว้ว่าทุกๆอย่างที่อยู่ในสากลจักรวาลนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็น “อนิจจัง” ความไม่เที่ยงหรืออนิจจังนี้คือการที่สิ่งต่างๆในโลกทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
ไม่สามารถที่จะคงอยู่ยั่งยืนได้ตลอดชั่วฟ้าดินสลาย “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดาก็จะต้องดับไปเองเป็นธรรมดานี่คือกฎสากลที่กำกับการเกิดขึ้น ตั้งอยู่
และเสื่อมสลายของทุกสรรพสิ่ง คำว่าทุกสรรพสิ่งในที่นี้เองก็รวมถึงความรู้สึกและ
อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับกายและใจของเราไม่ว่าจะเป็นทุกข์หรือสุข


ในสากลจักรวาลนี้ไม่มีอะไรที่จะสามารถอยู่คงทนได้ตลอดกาลนานด้วยตัวของมันเองตราบเท่าที่เราไม่ไปแทรกแซงหรือก้าวก่ายมัน ตัวอย่างที่สามารถอธิบายได้ง่ายๆก็คือ ถ้าเรามีเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่สวยงามตัวหนึ่ง หากเราปล่อยทิ้งให้มันตากลมตากฝนไปตามยถากรรมโดยไม่ซ่อมแซมบำรุงรักษาขัดเคลือบมันอย่างสม่ำเสมอแล้ว ในท้ายที่สุดเฟอร์นิเจอร์ไม้นั้นมันก็จะผุพังและหมดสภาพกลายเป็นเศษไม้ ไม่เหลือสภาพเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่สวยงามอย่างที่เคยเป็น ในทางตรงกันข้าม หากเราหมั่นดูแลเฟอร์นิเจอร์ไม้ตัวนั้นอยู่เสมอ มันก็จะคงสภาพของมันต่อไปเรื่อยๆตราบเท่าที่เราจะหยุดดูแลรักษามัน แต่การเข้าไปบำรุงรักษาบางสิ่งไม่ให้เสื่อมสภาพตามกาลเวลานั้นก็เป็นเพียงการชะลอการสูญสลายของมันแค่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการหยุดยั้งการเสื่อมสลายของมันอย่างแท้จริง กฏสากลนี้สามารถอธิบายได้ว่า ทุกๆความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับกายใจของเราทั้งที่เป็นทุกข์และสุขถ้าเราแต่เพียงเฝ้าดูและรับรู้มันด้วยใจที่เป็นกลางอย่างแท้จริงโดยไม่เข้าไปแทรกแซงปรุงแต่งต่อแล้ว ในท้ายที่สุดเราจะรู้ว่าความรู้สึกและอารมณ์เหล่านั้นล้วนไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ได้ตลอดชั่วกาลนาน เมื่อถึงเวลามันก็จะดับไปด้วยตัวของมันเองโดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ซึ่งการฝึกสมาธิโดยการตามดูตามรู้ความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆด้วยใจที่เป็นกลางนี่เองจึงเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถเข้าถึงสัจธรรมในเรื่องนี้ได้อย่างกระจ่างแจ้ง

เมื่อได้ทราบถึงหลักของการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานมาพอสมควรแล้ว ต่อไปเราจะมาศึกษากันต่อว่าการฝึกสมาธิในแนวนี้จะให้ประโยชน์อะไรกับผู้ฝึกบ้าง ส่วนแรกของงานวิจัยนี้จะมุ่นเน้นไปที่ประโยชน์ของการฝึกสมาธิที่มีผลต่อปัจจัยด้านพื้นฐานในทางจิตวิทยา อันได้แก่การเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ การพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนอง และการลดความเครียดในชีวิตประจำวัน

 

หน้าต่อไป

 

 

 

 

Copyright © 2014
All rights reserved.