ประโยชน์จากการฝึกสมาธิ
หน้าแรก หน้า 2 หน้า 3 หน้า 4 หน้า 5 หน้า 6 หน้าสุดท้าย

งานวิจัยส่วนที่ 1:
ประโยชน์จากการฝึกสมาธิที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์ การรับรู้ความสามารถของตนเอง และความเครียด


ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า EQ นั้น คือความสามารถในการรับรู้และเข้าใจในอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น อีกทั้งยังครอบคลุมถึงความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตัวเองและประยุกต์ใช้ความรู้เกี่ยวกับอารมณ์ในการสร้างประโยชน์ต่อการทำงานและการเข้ากับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย นักวิชาการในยุคปัจจุบันเชื่อว่าความฉลาดทางอารมณ์นี้มีความสำคัญกว่าฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence Quotient) หรือที่เรารู้จักกันสั้นๆว่า IQ เสียด้วยซ้ำ มีงานวิจัยแสดงให้เห็นชี้ชัดว่าผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จหลายคนนั้นล้วนเป็นผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในระดับสูงด้วยกันทั้งสิ้น สาเหตุหลักข้อแรกนั้นก็เนื่องมาจากว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้เองความสามารถในการสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ช่วยให้คนเราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข อารมณ์ของคนนั้นจัดเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดว่าเราจะเข้ากับผู้อื่นได้ดีหรือไม่

ถ้าถามว่าอารมณ์นั้นมีความสำคัญอย่างไร? ก็ต้องลองถามตัวเองดูก่อนว่าตัวเราอยาก
อยู่ใกล้กับคนที่อารมณ์บูดบึ้งหงุดหงิดหน้าบุญไม่รับอยู่ตลอดเวลาหรือไม? ปกติแล้วคง
ไม่มีใครหรอกที่อยากอยู่ใกล้คนประเภทนี้ ในทางจิตวิทยามีทฤษฎีหนึ่งที่มีชื่อว่า
“การแพร่ระบาดทางอารมณ์” (Emotion contagion) ซึ่งอธิบายไว้ว่าอารมณ์ของคน
สามารถติดต่อกันได้เหมือนการติดโรคระบาด การที่เราอยู่ใกล้ๆกับคนที่อารมณ์เสีย
อยู่ตลอดเวลา นานๆเข้าก็มีโอกาสที่เราจะพลอยรู้สึกหงุดหงิดเสียอารมณ์ตามคนๆนั้น
ได้ง่าย ต่อให้พื้นฐานเราจะเป็นคนอารมณ์ดียังไงก็ตาม ถ้าเราอยู่กับพวกอารมณ์บูด
เข้าบ่อยๆก็คงต้องถอยหนีเหมือนกัน ในทางตรงกันข้ามถ้าเราอยู่ใกล้ๆกับคนที่อารมณ์
ดีร่าเริงและเบิกบานอยู่ตลอดเวลา เราก็มักจะรู้สึกดีด้วยเมื่อได้คลุกคลีอยู่กับคนๆนั้น

อารมณ์จึงถือเป็นพลังงานอย่างหนึ่งซึ่งสามารถแผ่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นพลังงานที่มีอานุภาพดึงดูดและผลักไสคนออกจากชีวิตเราได้อีกด้วย และด้วยเหตุผลนี้เองคนที่สามารถบริหารจัดการและควบคุมอารมณ์ในแง่ลบของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงมีโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนในสังคมได้ง่าย คนประเภทนี้มักจะมีแต่คนอยากเข้าหาและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการติดต่อคบค้าสมาคมกับผู้อื่นสูงอีกด้วย


เหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งซึ่งทำให้ความฉลาดทางอารมณ์มีความสำคัญกับความสำเร็จของคนนั้นก็สืบเนื่องมาจากอิทธิพลของอารมณ์ที่มีผลต่อกระบวนความคิดของคนเรา สังเกตไหมว่าเวลาที่เราตกอยู่ในอารมณ์ในด้านลบ เช่น โกรธ หดหู่ เศร้าเสียใจหรือเป็นกังวลนั้น ความคิดความอ่านของเราจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพและไม่ลื่นไหลเหมือนตอนที่เราอยู่ในอารมณ์ในด้านบวก ในทางจิตวิทยานั้นอารมณ์และความคิดจัดว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น คนเราต่อให้ฉลาดสักเท่าไหร่หากไม่สามารถระงับอารมณ์ในด้านลบที่มีอยู่ในใจก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะแสดงออกหรือทำเรื่องโง่ๆออกไปโดยไม่รู้ตัว ดังคำของหลวงพ่อชา สุภทฺโท ซึ่งท่านเคยกล่าวไว้ว่า “เวลาโกรธขึ้นมาด็อกเตอร์กับ ป.4 ก็โง่พอๆกัน” ซึ่งในจุดนี้เราก็มักจะเห็นในข่าวอยู่บ่อยๆว่าแค่อารมณ์เพียงชั่ววูบก็สามารถทำให้หลายๆคนสามารถทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตัวเอง พูดหรือแสดงกริยาที่ไม่เหมาะสมต่างๆออกมาได้ง่ายๆ

อารมณ์จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถกำกับความคิดและการกระทำ
ของมนุษย์เราได้อย่างน่ากลัวเลยทีเดียว ในทางกลับกันนั้นคนที่สามารถ
บริหารจัดการอารมณ์ตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ให้ถูกครอบงำด้วย
อารมณ์ในแง่ลบได้ง่ายนั้นจะมีความคิดความอ่านและกริยาที่สุขุมรอบคอบ
คนประเภทนี้มักจะได้เปรียบกว่าผู้ที่คุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้โดยเฉพาะเมื่อ
อยู่ในสถานการณ์ที่ขับขันตึงเครียด ดังนั้นความฉลาดทางอารมณ์จึงมี
บทบาทอย่างยิ่งในการที่จะช่วยให้เราฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคต่างๆ
ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้เป็นอย่างดี

 

การฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานช่วยส่งเสริมการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ได้อย่างไร
เมื่อเราได้รู้ถึงความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์แล้ว เราจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความสามารถในด้านนี้ให้เกิดขึ้น การฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานจะช่วยให้เราสามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ได้ก็เนื่องมาจากว่า การที่เราตั้งใจตามดูตามรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่ผุดขึ้นมาในจิตใจของเราขณะที่กำลังปฏิบัติโดยไม่ไปคิดเสริมเติมแต่งต่อนั้นจะทำให้เราเห็นการแสดงตัวของอารมณ์นั้นๆได้อย่างกระจ่างชัดมากขึ้น การฝึกเช่นนี้จะทำให้เรามองออกได้อย่างละเอียดว่าอารมณ์นั้นๆที่ “เกิดขึ้น” ในใจเรามันผุดขึ้นมาได้อย่างไรและเกิดเพราะสาเหตุอะไร การเฝ้าดูการเกิดขึ้นของอารมณ์นี้ยังสามารถช่วยทำให้เราเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอารมณ์นั้นๆได้อีกด้วย เช่นเมื่อความโกรธเกิดขึ้นกับเราและเราพยายามตามดูตามรู้ว่าขณะนี้อารมณ์โกรธของเรากำลังก่อตัวขึ้น เราจะรับรู้ได้ถึงความทุกข์ที่บังเกิดขึ้นกับใจของเราซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่แทนที่เราจะไปคิดปรุงแต่งต่อเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เราโกรธหรือไปคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องที่เราโกรธนั้น ก็ให้เราตามดูตามรู้อารมณ์โกรธนั้นไปเรื่อยๆด้วยใจที่เป็นกลางโดยไม่ต้องฝืน แต่หากเราไปคิดปรุงแต่งในสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกโกรธขึ้นมาเมื่อไหร่ ทุกข์นี้ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อยิ่งคิดใจก็ยิ่งทุกข์

ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆก็ให้คิดถึงน้ำในแก้วเซรามิคใบหนึ่งซึ่งอยู่ในอุณหภูมิห้องตามปกติ
เราจะสามารถถือแก้วนั้นได้ด้วยมือเปล่าแบบสบายๆ น้ำในแก้วนั้นเปรียบเสมือนกับอารมณ์
ของเรา ส่วนมือที่กำลังถือแก้วนั้นก็เปรียบกับจิตของเราที่กำลังไปยึดติดกับอารมณ์นั้น
การที่มือเราสามารถถือแก้วน้ำใบนั้นที่อุณหภูมิห้องได้อย่างสบายๆก็เหมือนกับว่า เวลาที่
เราอยู่ในอารมณ์ปกติจิตของเราจะสามารถยึดจับอารมณ์ที่ปกตินั้นได้โดยไม่รู้สึกทุกข์ร้อน
อะไร แต่เมื่อใดก็ตามที่อารมณ์โกรธก่อตัวขึ้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ความโกรธซึ่งมี
พลังความร้อนโดยธรรมชาติก็จะทำให้อุณหภูมิของน้ำในแก้วยิ่งสูงมากขึ้น

การที่เรายังคงเอาจิตไปยึดติดอยู่กับเรื่องที่ทำให้โกรธนั้นก็เหมือนกับการที่เรายังคงเอามือกำแก้วน้ำร้อนนั้นไว้ ในขณะเดียวกันการที่เราคอยคิดปรุงแต่งกับเรื่องที่เรากำลังโกรธก็เปรียบเสมือนกับการใส่ความร้อนให้กับน้ำในแก้วนั้นอย่างสม่ำเสมอ ในทางตรงกันข้าม การที่เราแค่เฝ้ามองดูความโกรธนั้นด้วยใจที่เป็นกลางก็เปรียบเสมือนกับการที่เราแค่สัมผัสกับแก้วน้ำร้อนนั้นเพียงเบาๆแต่ไม่ได้ไปกำมันไว้แน่น และการที่เราไม่ไปคิดปรุงแต่งต่อในเรื่องที่ทำให้โกรธนั้นก็เปรียบเหมือนการที่เราไม่เพิ่มความร้อนให้กับน้ำในแก้วนั้น ถึงเราจะรู้สึกได้ถึงความร้อนจากแก้ว แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เราทรมานเหมือนเอามือไปกำมันแน่น

การที่เราคอยดูคอยตามรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไปเรื่อยๆด้วยใจที่เป็นกลางโดยไม่คิดปรุงแต่งต่อนั้น ก็คือการที่ใจเราไม่ไปยึดติดกับมัน เราเป็นแค่คนเฝ้าดูการ “ตั้งอยู่” ของมันไปเรื่อยๆ เมื่อเราตามดูตามรู้อารมณ์ที่เรากำลังรู้สึกอยู่ตามธรรมชาติจนถึงระยะเวลาหนึ่ง เราก็จะพบว่าในท้ายที่สุดแล้วอารมณ์นั้นๆมันก็จะ “ดับไป” ด้วยตัวของมันโดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน เปรียบเสมือนกับแก้วน้ำร้อนที่เราเพียงแค่สัมผัสมันเบาๆและไม่ใส่ความร้อนเข้าไปเพิ่ม เมื่อเวลาผ่านไปอุณหภูมิความร้อนของน้ำในแก้วนั้นก็จะค่อยๆลดลงและกลับมาอยู่ในอุณหภูมิปกติเช่นเคย

โดยภาพรวมแล้ว หลักเกี่ยวกับการฝึกดูจิตในลักษณะนี้ล้วนสอดคล้องกับหลักเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งมุ่งเน้นให้เราเข้าใจถึงการเกิดขึ้นของอารมณ์ ว่าเหตุใดอารมณ์แต่ละอย่างจึงเกิดขึ้นในใจเรา และเมื่ออารมณ์นั้นๆเกิดขึ้นแล้วมันจะส่งผลกระทบยังไงต่อตัวเราและคนอื่นบ้าง ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานเป็นประจำจนชำนาญจะสามารถบริหารจัดการอารมณ์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะพวกเขาจะเข้าใจว่าอารมณ์ในแง่ลบต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงและจะต้องดับไปเองถ้าไม่ไปคิดปรุงแต่งต่อ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งต่างๆที่กล่าวมานี้ต้องใช้เวลาและความอดทนพอสมควรในการฝึก เพราะการที่จะฝึกจิตให้ปล่อยวางและมีความเป็นกลางกับอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ ประสบการณ์ในการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบ่งชี้ถึงระดับของความฉลาดทางอารมณ์ที่บุคคลนั้นๆจะพัฒนาขึ้นได้

 

หน้าที่แล้ว หน้าต่อไป

 

 

 

 

Copyright © 2014
All rights reserved.