ประโยชน์จากการฝึกสมาธิ
หน้าแรก หน้า 2 หน้า 3 หน้า 4 หน้า 5 หน้า 6 หน้าสุดท้าย

บทสรุป

โดยภาพรวมแล้ว ผลการวิเคราะห์ทางสถิติที่ได้จากงานวิจัยทั้งสองส่วนล้วนให้การสนับสนุนเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้จากการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐาน ทั้งทางด้านการเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ การพัฒนาศักยภาพความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง และการลดความเครียด สำหรับในแง่ของการทำงานแล้ว การฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานยังมีส่วนในการช่วยให้บุคลากรในองค์กรเลือกใช้วิธีจัดการกับปัญหาในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังส่งผลสืบเนื่องในการช่วยลดความเหนื่อยล้ากับงานและเพิ่มความพึงพอใจในงานอีกด้วย ผลที่ได้เหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมว่าการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานนั้นสามารถส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของคนเราได้อย่างอัศจรรย์ ผลจากการวิเคราะห์ทางสถิติยังสามารถใช้เป็นข้อพิสูจน์ต่อหลักในพระพุทธศาสนาที่ว่า “การฝึกสมาธินั้นช่วยใหจิตใจเราสงบ เมื่อจิตใจเราสงบ เราก็จะสามารถมีปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาในชีวิต” ได้อย่างลงตัวอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ดี การฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานนั้นสำหรับบาคนอาจต้องใช้ระยะเวลาและความอดทนพอสมควรในการฝึก ดังนั้นการฝึกสมาธิจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเราควรฝึกปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้นว่าการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานนั้นสามารถฝึกได้ทุกที่ทุกเวลาในชีวิตประจำวันของคนเรา ตราบใดที่เราหายใจ มีการเคลื่อนไหวร่างกาย มีการคิด มีการรับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ การคอยตามดูตามรู้การเคลื่อนไหวทางกาย ความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ จึงเป็นสิ่งที่แทบจะทำได้ตลอดเวลาตราบเท่าที่เราจะให้ความใส่ใจกับมัน และด้วยประโยชน์ของการฝึกสมาธิที่มีผลต่อการเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพซึ่งส่งผลในท้ายที่สุดต่อการป้องกันความเหนื่อยล้ากับงานและสร้างความพึงพอใจกับงานนี้เอง การส่งเสริมให้พนักงานและบุคลากรในองค์กรได้มีการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานนั้นอาจถือเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรอย่างยิ่งยวดวิธีหนึ่ง ในประเทศไทยนั้นถือว่ามีศูนย์อบรมการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานเป็นอันมากทั้งที่จัดโดยศาสนสถานและโดยภาคเอกชน ซึ่งการอบรมส่วนมากนั้นแทบจะไม่ต้องเสียค่าใช่จ่ายอะไรเลย การจัดให้พนักงานได้มีโอกาสไปฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานนั้นจึงเป็นสิ่งที่หัวหน้าองค์กรหรือเจ้าของกิจการควรให้ความสำคัญ เพราะท้ายที่สุดแล้วความสำเร็จขององค์กรหรือกิจการก็ล้วนต้องอาศัยบุคคลากรที่มีประสิทธิภาพทั้งทางด้านความสามารถความคิดและทางอารมณ์ทั้งสิ้น ในท้ายที่สุดนี้หวังว่าผลจากงานวิจัยนี้จะสามารถสร้างแรงบัลดาลใจให้ชาวไทยหันมาให้ความสนใจกับการปฏิบัติสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานกันมากขึ้น

หมายเหตุ
งานวิจัยทั้งสองส่วนนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ใน Journal of Management & Organization และ Journal of Spirituality in Mental Health ซึ่งเป็นวารสารวิชาการนานาชาติที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

เอกสารอ้างอิง:

  • Charoensukmongkol, P. (Forthcoming issue), Benefits of Mindfulness Meditation on Emotional Intelligence, General Self-Efficacy, and Perceived Stress: Evidence from Thailand, Journal of Spirituality in Mental Health

  • Charoensukmongkol, P. (2014). The Contributions of Mindfulness Meditation on Burnout, Coping Strategy, and Job Satisfaction: Evidence from Thailand, Journal of Management and Organization. DOI 10.1017/jmo.2014.8

หน้าแรก

 

 

 

 

Copyright © 2014
All rights reserved.